ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการปฏิบัติงานตำรวจ
พันตำรวจโท สรานนท์ จันทร์สม
สถานีตำรวจภูธรอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิถีการดำเนินชีวิต การงาน การบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดนโยบาย ด้านต่างๆ ที่มุ่งเน้นแนวทางสายกลาง โดยยึดหลัก ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต อดทน ขยันหมั่นเพียร เพื่อการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคน สังคม และธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับทั้งในระดับบุคคล/ครอบครัว ระดับกลุ่ม/องค์กร/ชุมชน และระดับสังคม ดังที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆร่วมกันประมวลและกลั่นกรอง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ความว่า
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตน
ของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ
ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะ
การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง
ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกัน
ในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภาย
นอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศั ย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความ ระมัดระวัง อย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนิน การทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิต ด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้าน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักการดำเนินชีวิต การทำงาน การบริหาร การ
พัฒนา รวมถึงการดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆของมนุษย์ ที่เน้นแนวทางสายกลางยึดหลัก ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และเงื่อนไขคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร ขยันอดทน และการแบ่งปัน สรุปเป็นกรอบแนวคิดได้ดังนี้

สรุปกรอบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการปฏิบัติงานของตำรวจ สามารถดำเนินการได้ในทุกมิติ ทุกระดับ ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ การบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ของรัฐบาล ตั้งแต่ ระดับบุคคล/ครอบครัว ระดับหน่วยงาน/องค์กร สถานีตำรวจ ภูธรจังหวัด ระดับภาค รวมไปถึง ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงระดับสังคม

๑. เป้าหมายการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกระแสแห่งตะวันออก(Easternization) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงศึกษา คิดค้น ทดสอบ ทดลอง มาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี ดัง ทรงมี พระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระองค์ทรงทุ่มเท พระวรกาย เพื่อแสวงหาหนทางที่จะทำให้คนไทย มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทรงจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเรียนรู้ ทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงทดลองทำโครงการพัฒนากว่า ๓,๐๐๐ โครงการ เพื่อศึกษา ทดลอง จนพบว่า แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิถีการดำเนินชีวิต การงาน การอยู่ร่วมกัน ที่สอดคล้องเกื้อกูล เหมาะสมกับสภาพ “ภูมิสังคมไทย”
ปี พ.ศ.๒๕๔๒ พระองค์ทรงพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปเผยแพร่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (๒๕๔๕-๒๕๔๙) ได้ประกาศใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ
การพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพัฒนาที่เน้น ความพอดี หรือแนวทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง โดยยึดหลัก ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม แบ่งการพัฒนาเป็น ๓ ระดับคือ ระดับบุคคล/ครอบครัว ระดับกลุ่ม/องค์กร/ชุมชน และระดับสังคม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาในแต่ละระดับดังนี้
๑.๑ เป้าหมายสูงสุด เพื่อการอยู่ร่วมกัน ระหว่าง คน สังคม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี อย่างมีคุณค่า สมดุล ยั่งยืน
๑.๒ เป้าหมายระดับสังคม คือ การสร้างสังคมแห่งความพอเพียง
๑.๓ เป้าหมายระดับกลุ่ม/องค์กร/ชุมชน คือ การสร้างองค์กรชุมชนพอเพียง
๑.๔ เป้าหมายระดับบุคคล/ครอบครัว คือ การสร้างบุคคลพอเพียง
การพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเริ่มก่อเกิดจากภายในจิตใจ หรือจุดประกายจากภายใน หรือที่เรียกว่า ”เป็นการระเบิดออกมาจากข้างใน” ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้เป็นแนวทางในการทรงงาน เมื่อมีจิตใจที่แน่วแน่ จึงลงมือทำโดยเริ่มจากตัวเองไปหาคนรอบข้าง จากเรื่องเล็กน้อยไปหาเรื่องใหญ่ จากเรื่องใกล้ตัวออกไปไกลตัว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียร ขยันอดทน จากระดับบุคคล/ครอบครัว ไปสู่องค์กร/ชุมชน ก้าวไปสู่ระดับสังคม ตามลำดับ ความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของทุกคน

๒. แนวทางการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นต้องเริ่มจากจิตใจเป็นพื้นฐาน เมื่อจิตใจมีความพร้อม จึงเริ่มลงมือทำ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ ดังนี้



๓. การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการปฏิบัติงานตำรวจ
การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับการปฏิบัติงานตำรวจ เป็นการน้อมนำเอา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ประยุกต์กับการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับบุคคล/ครอบครัว ระดับกลุ่ม/องค์กร/ชุมชน และระดับสังคม ในทุกมิติ
โดยมีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันของ คน สังคม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี อย่างสมดุล ยั่งยืน ตามแนวทางดังต่อไปนี้

๓.๑ ระดับบุคคล
ในระดับบุคคล เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนา ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เป็น “ตำรวจพอเพียง” (Sufficiency man) ดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการ สามห่วง สองเงื่อนไข เป็นอันดับแรก พัฒนาให้มีจิตวิญญาณของความพอเพียง (Sufficiency spirit) มีคุณธรรม พึ่งตนเองได้ มีความรับผิดชอบสูง และที่สำคัญ ต้องเป็นแบบอย่างสามารถนำพาครอบครัวให้ดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล มีความเป็นอยู่อย่างสมฐานะ คิดและวางแผนด้านเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ด้านสังคมมีความเกื้อกูล เอื้ออาทรกัน มีการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือรวมกลุ่มบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ด้าน การศึกษาวัฒนธรรมมีมีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกัน ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ดี ด้านจิตใจต้องเข้มแข็ง อดทน ด้านเทคโนโลยีต้องรู้จักเลือกรับและใช้เทคโนโลยี อย่างเหมาะสมคุ้มค่า ไม่สุ่มเสี่ยงจนเกินไป ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเกื้อกูล รู้จักใช้และจัดการทรัพยากร อย่างชาญฉลาด คุ้มค่า สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทำงานเป็นทีม และใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างสมดุล ยั่งยืน
การพัฒนาในระดับบุคคล จำเป็นต้องเริ่มจากจิตใจหรือทำให้เกิดการ “ระเบิดจากข้างใน” หรือพร้อมที่จะระเบิดออกมาจากข้างในจิตใจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจสำหรับการพัฒนา เมื่อจิตใจมีความพร้อม การพัฒนา หรือการการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาจึงจะเกิดขึ้น ดังภาพตัวอย่าง



การระเบิดจากข้างใน เป็นการจุดระเบิดจากจิตใจของบุคคล ด้วยกระบวนการรับรู้ของจิตและพลังศรัทธาว่า การพัฒนาต้องเริ่มที่จิตใจเป็นพื้นฐาน คือบุคคลต้อง ”รู้ตัว” หรือรับรู้ ตลอดเวลาอย่างเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้ด้วยตัวของเรา เมื่อรู้ตัวว่าเราทำได้ จะเริ่ม “รู้สึก” ว่า ตัวเรามีพลัง เมื่อมีพลังจึงเกิดเป็น ”สำนึก” แห่งตน ที่จะใช้พลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการลงมือ “กระทำ” จึงเกิดขึ้น พฤติกรรม การพัฒนาจึงเกิดตามมา การระเบิดจากข้างใน จึงเป็นการจุดประกายหรือจุดระเบิดด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากจิตใจของเรา ด้วยตัวของเรา สำนึกของเรา จากการกระทำของตัวเรา การพัฒนาด้วยกระบวนการระเบิดจากข้างใน ดังกล่าว จึงจะเกิดความต่อเนื่อง และยั่งยืน
การพัฒนาคนไปสู่การเป็นบุคคลพอเพียง นอกจากการระเบิดจากข้างในแล้ว จำเป็นต้องสร้างกระบวนการคิดแบบวงกลม (Cycle thinking) หรือ คิดแบบรอบด้าน หรือที่เรียกว่า การมองแบบองค์รวม แทนการคิดแบบเส้นตรง (Line thinking) เพื่อให้มองเห็นความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยง ของสรรพสิ่ง ที่อยู่ร่วมกัน อย่างมีคุณค่า

คุณลักษณะของตำรวจพอเพียง



ฉะนั้น การพัฒนาในระดับบุคคล จึงเป็นกลไกสำคัญ หรือเป็นเสมือนฐานราก ที่จะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้บรรลุเป้าหมายในระดับองค์กร/ชุมชน และระดับสังคม ที่สูงขึ้นต่อไป ที่สำคัญกระบวนการพัฒนาคนในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และซับซ้อน ทุกคนต้องช่วยกันเสริมสร้าง พัฒนา ด้วยความเพียร อดทน และเสียสละ ผู้ที่มีโอกาสมากกว่าต้องช่วยเหลือแบ่งปัน ผู้ฉลาดต้องเกื้อกูล ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่างแก่เด็กๆ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก ครูต้องช่วยกันอบรมสั่งสอนนักเรียนให้คิดเป็นพึ่งตนเองได้ พระต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและศีลธรรม ปราชญ์ต้องเป็นผู้นำภูมิปัญญา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องเป็นที่พึ่ง ในด้านความปลอดภัย และความถูกต้อง เป็นธรรมของสังคม หากทุกฝ่ายร่วมกันสรรสร้างและพัฒนาบุคคล ให้เกิดเป็นบุคคลพอเพียง (Sufficiency man) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นที่ ๑ ได้แล้ว โอกาสในการรวมกลุ่มพึ่งกันเอง เกิดการ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน สร้างเครือข่ายองค์กร/ชุมชน พอเพียง ขั้นที่ ๒ และขยายเครือข่าย สร้างสังคมพอเพียงในขั้นที่ ๓ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลจนเกินไป
ในระดับบุคคลสามารถสรุปเป็นตัวแบบ (Model) ในการศึกษาและพัฒนาได้ดังนี้

ตัวแบบการพัฒนาบุคคลพอเพียง เริ่มจากกระบวนการ “ระเบิดจากข้างใน” คือการ สร้างจิตวิญญาณของความพอเพียงให้เกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล และพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งจนสามารถพึ่งตนเองได้ ด้วยการ ดำเนินชีวิตภายใต้กรอบ สามห่วงสองเงื่อนไข คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทน รู้จักการแบ่งปัน จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “บุคคลพอเพียง” ได้ในที่สุด

๓.๒ ระดับองค์กร หรือระดับสถานีตำรวจ
ในระดับองค์กร หรือระดับสถานีตำรวจ จำเป็นต้องมีองค์กรพอเพียง หรือสถานีตำรวจพอเพียง ซึ่งบริหารและปฏิบัติงานภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ ต้องยึดหลักการ สามห่วง สองเงื่อนไข คือ หลักความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และเงื่อนไขคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียร ขยันอดทน และรู้จักแบ่งปัน ดำรงอยู่ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรแบบพอเพียง เช่น การปรับเปลี่ยนจากองค์กรที่เคยชินกับวัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบสั่งการมาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาการทำงานเป็นทีม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง มีครอบครัวตำรวจแบบพอเพียงไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๒๕ ของครอบครัวตำรวจทั้งสถานี โดยมีหัวหน้าหน่วยงานดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างของครอบครัวตำรวจพอเพียงที่ดี และที่สำคัญผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรทุกระดับ ต้องมีความพร้อมที่จะรับเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มากำหนดเป็นนโยบายสำคัญ และขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกองคาพยพ ในลักษณะของการผนึกกำลัง (Synergy) ร่วมกัน เสริมสร้าง และสถาปนา สังคม วัฒนธรรมใหม่ อย่างมีพลัง ก่อเกิดเป็นรูปแบบของสถานีตำรวจพอเพียงดังนี้
รูปแบบของสถานีตำรวจพอเพียง

การบริหารจัดการ สถานีตำรวจพอเพียงผู้บริหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างลึกซึ้ง สามารถนำไปปรับประยุกต์บริหารจัดการองค์กร และถ่ายทอดให้กับคนในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักการ สามห่วง สองเงื่อนไข และสิ่งสำคัญผู้บริหารต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
ผู้บริหารนอกจากจะเป็นผู้ มีความรู้ในเรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างลึกซึ้งแล้วต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) ในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน สามารถถ่ายทอดออกมาเป็น เป้าหมายร่วมกัน (Purpose)ใช้ศิลปะในการจูงใจกระตุ้นให้คนในองค์กรมองเห็นเป้าหมาย และแนวทางไปสู่เป้าหมายร่วมกัน(ไม่ใช่การสั่งการตามวัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม) เกิดเป็นแรงศรัทธา ที่ระเบิดออกมาจากภายในจิตใจของสมาชิก ให้เป็นพลังในการขับเคลื่อน ร่วมกันคิด กำหนดหลักการทำงานร่วมกัน (Principle) ร่วมมือกันทำ (Participation) ร่วมแรง แบ่งหน้าที่ กำหนดความรับผิดชอบ มอบหมาย และร่วมรับผิดชอบ ให้วิถีแห่งความพอเพียง (Sufficiency life) พัฒนาขึ้นมาทดแทน กระแสบริโภคหรือกระแสแห่งความโลภซึ่งเป็นวิถีชีวิตเดิมหรือที่ดำรงอยู่ เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ คือวัฒนธรรมองค์กรแห่งความพอเพียง (Sufficiency culture) ที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมกันสร้างอย่างน่าภาคภูมิใจ ดังตัวแบบการพัฒนาแบบพอเพียงต่อไปนี้


ตัวแบบการพัฒนาองค์กรแบบพอเพียงนี้ เป็นผลการ พัฒนาต่อเนื่องจากระดับบุคคล/ครอบครัวพอเพียง ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง และสามารถพัฒนามาสู่การมีวัฒนธรรมองค์กรที่พอเพียง มีการทำงานพอเพียง ทีมงานพอเพียง จึงเกิดการบริหารจัดการองค์กรอย่างพอเพียง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง ภายใต้หลักการสามห่วงสองเงื่อนไข คือความพอดีหรือพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี บนเงื่อนไขของความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร ขยันอดทน รู้จักแบ่งปัน
การพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องพัฒนาเป็นขั้นตอน แต่ละขั้นตอนย่อมเป็นเหตุปัจจัยของการพัฒนาไปในขั้นที่สูงขึ้นการที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดดหรือข้ามขั้นย่อมทำไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องเริ่มพัฒนาจากขั้นที่ ๑ ในระดับบุคคล/ครอบครัว ขึ้นมาสู่ระดับกลุ่ม/องค์กร/ชุมชน แล้วจึงก้าวไปสู่ระดับสังคม เป็นลำดับ เสมือนการก้าวเดินขึ้นบันได
ดังนั้น ในการพัฒนาไปสู่การเป็นสถานีตำรวจพอเพียง จำเป็นต้องเริ่มพัฒนาจากการสร้างบุคคลพอเพียง (Sufficiency man) หรือสร้างตำรวจพอเพียง ระดับบุคคลในขั้นที่ ๑ ซึ่งมีวิถีการดำเนินชีวิตด้วยหลักการสามห่วงสองเงื่อนไข สามารถพึ่งตนเองได้ เป็นผู้มีจิตวิญญาณของความพอเพียง มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน มีความเพียรเป็นเลิศ และมีภาวะสันติภาพในจิตใจ มีปัญญา มองปัญหาแบบองค์รวม มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง เป็นการพัฒนาในระดับบุคคลให้มีจำนวนและสัดส่วนที่มาก จนเกิดเป็นพลังพอที่จะสร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตที่พอเพียง (Sufficiency life) และมีวิถีการทำงานอย่างพอเพียง พัฒนาก้าวไปสู่การมีวัฒนธรรมองค์กรแบบพอเพียง (Sufficiency culture) ในขั้นที่ ๒ คือการเป็นองค์กร/ชุมชนพอเพียง ที่มีรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรอย่างพอเพียง คนในองค์กรปฏิบัติงานด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง หรือการบังคับใช้กฎหมายโดยยึดหลักสามห่วง (ห่วงกฎหมาย ห่วงอำนาจ และห่วงมาตรการ) เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง จึงสามารถพัฒนายกระดับไปสู่การเป็นสังคมพอเพียงได้ในที่สุด
สังคมพอเพียง จึงเป็นเหตุปัจจัยที่เกิดจากการพัฒนา ในระดับบุคคล/กลุ่มบุคคล และระดับองค์กร/ชุมชน หรือเป็นผลจากการพัฒนาในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ อย่างเป็นขั้นตอน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมพอเพียง จึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาในระดับล่าง หรือการพัฒนาในระดับที่ ๑ และระดับที่ ๒ เป็นสำคัญ

๓.๓ ระดับสังคม


การพัฒนาในระดับสังคม เป็นผลพวงของการพัฒนาในระดับที่ ๑ คือ ระดับบุคคล/กลุ่มบุคคล ที่เกิดจากการสร้างบุคคลพอเพียง (Sufficiency man) และองค์กร/ชุมชนพอเพียง ในระดับ ที่ ๒ มีจำนวนบุคคลพอเพียง และองค์กร/ชุมชนพอเพียง ในระดับที่มากพอ จนเกิดเป็นกระแส สามารถพัฒนายกระดับสังคมให้ก้าวไปสู่ การเป็นสังคมแห่งความพอเพียง(Sufficiency Society) ได้ ซึ่งในสังคมแห่งความพอเพียง ต้องมีโครงสร้างสังคมแบบพอเพียง
มีวัฒนธรรมอย่างพอเพียง มีวิถีชีวิตที่พอเพียง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน
การพัฒนาไปสู่สังคมแห่งความพอเพียง จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการหล่อหลอม พัฒนา
แบบค่อยเป็นค่อยไปโดยกระบวนการซึมซับรับเอา เน้นที่คุณค่า ความจริง ความถูกต้อง และความดีงาม ที่เป็นธรรมชาติ มากกว่า คำว่า “กำไร หรือขาดทุน”
สังคมแห่งความพอเพียง (Sufficiency Society) เป็นทั้งเป้าหมายสุดท้าย ( End ) และวิธีการ ( Mean) ของการพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมของมนุษย์ สังคม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี อย่างสมดุล ยั่งยืน เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ ความเป็นจริงทางสังคม และสภาวะการเปลี่ยนแปลง เป็นเสมือนทางออกเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยอย่างยั่งยืน ของมวลมนุษยชาติ ดังนั้น การก้าวไปสู่ สังคมแห่งความพอเพียง จึงเป็นพันธกิจร่วมกันของทุกคนในสังคม


องค์ประกอบสำคัญของสังคมแห่งความพอเพียง


องค์ประกอบสำคัญของสังคมพอเพียงประกอบด้วยโครงสร้างระบบสังคมแบบพอเพียง มีวัฒนธรรมแบบพอเพียง มีสถาบัน องค์กร ชุมชนพอเพียง ที่สำคัญต้องประกอบไปด้วย บุคคล ครอบครัว พอเพียง เป็นรากฐานที่สำคัญ ทั้งระบบสังคมต้องมีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกัน
การพัฒนาไปสู่สังคมพอเพียง ต้องเริ่มจากฐานก่อนด้วยการพัฒนาระดับล่างจากบุคคล ครอบครัวพอเพียง ไปสู่กลุ่ม องค์กร ชุมชนพอเพียง จึงจะส่งผลให้เกิดสังคมพอเพียงตามมา การพัฒนาในแต่ละระดับ ต้องอาศัย ความเพียร ความขยัน อดทน และเวลา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกระแสแห่งความพอดีหรือปรัชญาที่ทำให้เกิดความพอดี ที่เน้นแนวทางสายกลาง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน/ครอบครัว ทุกองค์กร/ชุมชน ในทุกเรื่อง เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องใด ย่อมทำให้เกิดความพอดีกับสิ่งนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิด ทฤษฏี หรือความเชื่อใดๆ สามารถทำให้เกิดความพอดีกับทุกเรื่อง ใช้กับระบบทุนนิยมย่อมทำให้เกิดทุนนิยมแบบพอเพียง ใช้กับระบบเผด็จการก็เป็นเผด็จการแบบพอเพียงใช้กับระบอบประชาธิปไตย ย่อมเป็นประชาธิปไตยแบบพอเพียง
การน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์เป็นหลักการดำเนินชีวิต ยุคปัจจุบันจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ แม้ไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นการเป็นบุคคลพอเพียงหรือ องค์กร/ชุมชนพอเพียง หรือสังคมพอเพียง ก็นับได้ว่ามีหลักประกันของการดำเนินชีวิตที่ดี ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องช่วยกัน จุดประกาย ขยายผล ขับเคลื่อน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นกระแสแห่งตะวันออก (Easternization) ที่จะนำพาเอาความพอดี สร้างสมดุลใหม่ให้แก่โลก เพื่อให้สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณค่า สมดุลและยั่งยืน

ตัวแบบการพัฒนาสังคมพอเพียง มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อการอยู่ร่วมกัน ของ คน สังคม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี อย่างสอดประสาน สมดุล และยั่งยืน โดยมีโครงสร้างสังคมที่พอเพียง มีวัฒนธรรมพอเพียง ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง ยึดหลักพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และเงื่อนไขคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร ขยัน อดทน และการแบ่งปัน
การพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาจากระดับล่างขึ้นสู่บน หรือการพัฒนาจากฐานไปสู่ยอด แบบค่อยเป็นค่อยไป การมีฐานที่มั่นคงยอดจึงเกิดความมั่นคง ความสำเร็จในการสร้างสังคมพอเพียง จึงอยู่ภายในจิตใจของทุกคน


๔. การบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง

สถานีตำรวจเป็นหน่วยงานหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรมทางอาญา ควบคุมอาชญากรรม และให้บริการกับประชาชน ภารกิจหลักของตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งสิ้น ในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังกล่าว จำเป็นต้องกระทำอย่างพอเพียง หรือเรียกว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง ภายใต้กรอบการบังคับใช้กฎหมายสามประการ หรือที่เรียกว่า “หลักการบังคับใช้กฎหมายสามห่วง” ประกอบด้วย
ประการแรก กรอบด้านกฎหมาย
ประการที่สอง กรอบการใช้อำนาจ
ประการที่สาม กรอบด้านมาตรการ
การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องกระทำภายใต้กรอบการปฏิบัติงานทั้งสามด้าน อย่างถูกต้อง เป็นธรรม และเหมาะสม อย่างมีดุลยภาพ ด้วยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างสอดคล้องเหมาะสม ตามหลักการ สามห่วง คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้สองเงื่อนไข คือ เงื่อนไข ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และเงื่อนไขคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร ขยันอดทน เป็นที่ตั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดีจะต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างของความถูกต้องเป็นธรรม ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ โดยพิจารณาจากสามห่วง ดังนี้

กรอบสามห่วงในการบังคับใช้กฎหมาย

๑. กรอบด้านกฎหมาย
การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องกระทำภายใต้กรอบ หรือขอบเขตกฎหมาย
หรือ”ห่วงกฎหมาย” เป็นสำคัญ ตำรวจจะต้องเป็นผู้รอบรู้เรื่องกฎหมาย และใช้กฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากจิตใจ อคติลำเอียง โดยยึด หลักพอประมาณ ไม่ตรึงหรือย่อหย่อนจนเกินไป มีเป้าหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นสำคัญ หลักความมีเหตุผล พิจารณาจากข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน เชื่อมโยงอย่างมีเหตุผล สมเหตุผล ไม่บิดเบือน กลั่นแกล้ง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หรือความไม่รู้กฎหมายของประชาชนแสวงประโยชน์ที่มิชอบ ประการสำคัญจะต้องยึด หลักภูมิคุ้มกันที่ดี คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงาน โปร่งใส และเป็นธรรม

๒. กรอบการใช้อำนาจ
ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจ
ไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือลุแก่อำนาจ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียน หรือฟ้องร้องตามมา การใช้อำนาจของตำรวจต้องกระทำภายใต้ “ห่วงอำนาจ” หมายถึง การกระทำภายใต้ขอบเขตอำนาจที่กฎหมายกำหนดอย่างถูกต้อง และเป็นธรรมโดยยึด หลักพอประมาณ ไม่ตรึง หรือหย่อนจนเกินไป ใช้อำนาจอย่าง มีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ความหนักเบาแห่งข้อกล่าวหา ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดแก่สังคมโดยรวม และต้องยึด หลักการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการใช้อำนาจ ที่ไม่ถูกต้อง เป็นธรรม หรือปัญหาจากความไม่เข้าใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
๓. กรอบด้านมาตรการ
มาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย หรือเรียกว่า “ห่วงมาตรการ” นับว่าเป็นเรื่อง
สำคัญของการบังคับใช้กฎหมายเพราะการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากจะอาศัยตัวบทกฎหมาย อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องใช้มาตรการอย่างเหมาะสม กล่าวคือต้องยึด หลักการพอประมาณ ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป มีความเหมาะสมกับฐานความผิดตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด จนเกิดเป็น “ดุลยภาพการบังคับใช้กฎหมาย” การกำหนดมาตรการ ต่างๆ จำเป็นต้องยึด หลักความมีเหตุผล โดยพิจารณาจากข้อมูลที่หลากหลายอย่างรอบคอบ จากพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง อย่างสมเหตุผล สิ่งสำคัญ ต้องใช้ หลักการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากความเสี่ยง ที่เกิดจากการใช้มาตรการและผลกระทบที่จะเกิดตามมา ตลอดจนประโยชน์ที่จะเกิดแก่สังคมโดยรวม ทั้งในระยะสั้น กลาง และ ประโยชน์สูงสุด
การเป็นตำรวจพอเพียง นอกจากการดำรงชีวิตภายใต้ หลักการ “สามห่วงสองเงื่อนไข”ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องกระทำด้วยหลัก “การบังคับใช้กฎหมายสามห่วง” คือ ห่วงกฎหมาย ห่วงอำนาจ ห่วงมาตรการ อย่างมีดุลภาพ ดังตารางการบังคับใช้กฎหมายต่อไปนี้

ตารางการบังคับใช้กฎหมายอย่างพอเพียง

การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของตำรวจ นอกจากการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป ด้วยหลัก “ สามห่วง สองเงื่อนไข ” เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงสามารถพึ่งตนเองได้ ในด้านการปฏิบัติงานการบังคับใช้กฎหมายต้องยึด “หลักการบังคับใช้กฎหมายสามห่วง “ คือ ห่วงกฎหมาย ห่วงอำนาจ และห่วงมาตรการ อย่างมีดุลภาพ จึงจะได้ชื่อว่า “เป็นตำรวจพอเพียง” อย่างแท้จริง

“ ตำรวจ เป็นอาชีพที่ทำงานภายใต้สถานการณ์ ที่กดดัน ยั่วยุ
การกระทำ หรือละเว้น ย่อมมีผลกระทบ ต่อความรู้สึกของ
คนในสังคม ดังนั้น การเป็นตำรวจอาชีพ จะต้อง อดทน
อดกลั้น มีและใช้คุณธรรม ยิ่งกว่าบุคคลโดยทั่วไป “